วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ไมโครซอฟต์กับความยากลำบากในยุคหลังพีซี (Post-PC Era)

ไมโครซอฟต์ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ตนหนึ่งของวงการไอที กำลังเผชิญความท้าทายอย่างที่สุด หลายเดือนก่อน โดน Eric Schmidt แห่ง Google ตอกหน้าว่า ในวงการไอทีตอนนี้ มีแค่ Apple, Google, Facebook และ Amazon เท่านั้นที่เป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกัน พอถามถึงว่าทำไมไม่มี Microsoft อีตา Eric ก็ตอบมาอย่างเจ็บแสบว่า "ไมโครซอฟต์ไม่มีนวัตกรรมอีกต่อไปแล้ว..."

เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค "หลังพีซี" หรือที่ศาสดาจ๊อบส์ เรียกว่า "The Post-PC Era" ซึ่งคำนี้มีนัยยะที่แตกต่างกันของบรรดายักษ์ใหญ๋ไอทีทั้งหลาย จ๊อบส์มองว่า พีซีกำลังจะตาย กำลังถูกแทนที่ด้วย smart device ทั้งหลาย ไอโฟน ไอแพด ไอพอด กำลังเข้ามาแทนที่พีซี ซึ่งก็เห็นได้ชัดจากยอดขายที่ดิ่งเหวของบรรดาเครื่องพีซีในปีที่ผ่านมา

ส่วน ไมโครซอฟต์ เรียกยุคนี้แบบปลอบใจตัวเองว่า "PC Plus Era" คือมองว่า พีซียังไม่ตายเฟ้ย แต่มีอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเข้ามาเท่านั้นเอง ปรัชญาการออกแบบของ Apple กับ Microsoft  ถึงได้แตกต่างกันแบบฟ้ากับเหว Windows 8 ที่ออกมาเลยเป็นลูกผสมครึ่งหมูครึ่งแมว พีซีก็ไม่ใช่ แท็บเล็ตก็ไม่เชิง มีหลายโหมด หลายรุ่น วุ่นวายไปหมด เพราะออกแบบมาแบบรักพี่เสียดายน้อง

ทางด้าน Google ก็มองไปอีกแบบ บอกว่า พีซีไม่พีซี ไม่สำคัญ จุดสำคัญคือเรากำลังเข้าสู่ยุคของ Cloud ต่างหาก "It's all about the cloud" นั่นคือ เอ็งจะใช้เครื่องอะไรไม่สำคัญ สำคัญคือ content ทั้งหลายที่เอ็งเสพย์น่ะต่้องโหลดมาจาก cloud ดังนั้น Google ก็เลยมีปรัชญาการออกแบบผลิตภัณฑ์ มุ่งเน้นไปสู่การใช้ข้อมูลจาก cloud ไม่ว่าจะเป็น search engine, maps, docs, drive, YouTube, และสารพัดบริการที่สร้างขึ้น

เจ้าที่ตกที่นั่งลำบากตอนนี้คือไมโครซอฟต์ มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ไมโครซอฟต์นั้นในปี 2011 (สองปีที่แล้ว) มีรายได้จาก Windows สูงถึง 19,000 ล้านเหรียญ ที่สำคัญคือ ทำกำไรได้ถึง 12,000 ล้านเหรียญ (กำไรโคดเยอะ...) รายได้นี้มาจากการขายไลเซนส์ของ Windows 7 ออกไปได้มากถึง 400 ล้านตัว (ต่อปีนะครับ)

รายได้ดังกล่าวมาจาก พีซีแต่ละตัวที่ขายออกไป ผู้ผลิตพีซีต้องจ่ายเงินในไมโครซอฟต์ถึง 50-100 เหรียญต่อเครื่องพีซีหนึ่งตัวที่ขายออกไป เห็นมั้ยครับว่าในสองปีที่แล้ว (และในอดีตอีก 20 กว่าปี) ไมโครซอฟต์นั้นอิ่มหมีพลีมันขนาดไหน

พอมาปีที่แล้ว ไมโครซอฟต์ก็ออก Windows 8 ไอ้ตัว OS เจ้าปัญหานี่แหละ... ด้วยความหวังว่า Windows 8 จะช่วยทำรายได้ให้มากขึ้นไปอีก ปรากฎว่าแป๊ก ครับ รายได้ส่วน OS นี่กลับร่วงไปถึง 13%  เพราะผู้ใช้ พีซีต่างก็ไม่ยอม upgrade กันมากอย่างที่ไมโครซอฟต์คาดหวัง

แถม Windows 8 ส่วนหนึ่งก็ออกมาเป็น Windows RT ซึ่งวิ่งในเครื่องครึ่งหมูครึ่งแมว ที่เป็นทั้ง laptop และ tablet ที่เห็นๆกันอยู่ การสู้ในตลาด Table ที่ราคา อยู่ที่ไม่เกิน 500 เหรียญ แน่นอนว่าผู้ผลิตไม่สามารถจ่ายเงินค่าไลเซนส์ให้ Microsoft ได้เท่ากับพีซีแน่ (ราคาไม่เป็นที่เปิดเผย) แถมยอดขายก็ไม่ได้สูงโด่งอะไร อีตา Balmer ออกมาแถลงผลประกอบการก็พูดอ้อมแอ้มว่า "ยอดขายดี" แต่ไม่บอกว่าเท่าไร

แถมยังไปหาเรื่องทะเลาะกับบรรดาผู้ผลิต PC อีกด้วยการออกเครื่อง "Surface" ออกมาแข่งกับผู้ผลิตอื่น จน Acer ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ออกมาโวย

กลับมาดูว่าปรัชญาการออกแบบนั้นมีผลมากในการแย่งตลาด "Post-PC Era" นี้จาก Apple และ Android

ในปี 2009 ไมโครซอฟต์มีโครงการทำ Table ที่ทำให้ทั้งโลกหันมามองมาก่อนที่จะมี iPad เกิดขึ้นด้วยซ้ำ โครงการนั้นคือ Tablet 2 จอที่ชื่อว่า  "Courier" เป็น Tablet ระดับเลิศหรูอลังการ ใครที่ยังไม่เคยเห็นลองดูที่นี่ครับ http://www.youtube.com/watch?v=sM6N_V43tXQ

นั่นเป็นผลงานออกแบบเมื่อปี 2009 นะครับ น่าทึ่งมากในตอนนั้น โครงการนี้เสนอโดย J Allard ซึ่งเป็นเจ้าพ่อผู้สร้าง Xbox ให้ไมโครซอฟต์นั่นเอง...

ว่าไปแล้ว Xbox เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งในไม่กีตัวที่ไมโครซอฟต์รบชนะชาวบ้าน ศักดิ์ศรีนั้นพอๆกับ Windows และ Office

ด้วยเครดิตความสำเร็จของ Xbox การที่ J Allard จะผลักดัน Courier ก็น่าจะไม่ยาก อีกทั้งโครงการก็ดูดีไม่น้อย แต่ปัญหาคือ อีตา Ballmer ซีอีโอของไมโครซอฟต์นั้นกลับลังเล ไม่แน่ใจว่า Courier จะเป็นอนาคตที่ดีของไมโครซอฟต์

Ballmer กลับไปปรึกษาเจ้าพ่อวินโดว์ส Steven Sinofsky แล้วก็เห็นดีเห็นงามกันว่า อนาคตของ Tablet ต้องเป็น Desktop Windows เท่านั้น ไม่ใช่ Courier ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่า Sinofski นั้น มองผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ วินโดว์สว่า "ห่วย" หมดอยู่แล้ว (อีตานี่หลังจากที่ไมโครซอฟต์ออก Windows 8 แล้วไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ก็ถูกเฉดหัวออกไป วันหลังจะมาเล่าให้ฟัง)

ในตอนนั้น Sinofski ให้ความเห็นว่า Tablet ต้องทำจาก Windows เท่านั้น ทำไหม่ไม่ได้เรื่อง ผลที่ได้ออกมาก็คือ Windows 8 ที่มี UI "Metro" ที่ไมโครซอฟต์แสนภูมิใจ (ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "Modern")

Ballmer พอฟังความเห็นของ Sinofski ก็ลังเลใจ แต่ยังไม่แน่ใจนัก เลยวิ่งโร่ไปฟ้องพ่อใหญ่ แห่งไมโครซอฟต์ Bill Gates ให้ช่วยตัดสิน

นายห้าง Bill Gates ไม่ได้ทำงานที่ไมโครซอฟต์มานานหลายปีดีดัก เพราะกำลังทำการกุศลอย่างมากมาย เผื่อจะล้างบาปได้บ้าง ต้องกลับมาตัดสิน...

ในที่ประชุมตัดสิน มีคนเข้าร่วมหลายคน คือ Ballmer ซึ่งตัดสินใจอะไรไม่ได้ แต่มีท่าทางเห็นดีเห็นงามกับ Sinofski รวมกันมาเถึยงกับ Allard ซึ่งลากเอา Bach ผจก. Entertainment & Device เข้ามาช่วยเถียง

ผลการถกเถียงสรุปว่า ไมโครซอฟต์ต้องยืนหยัดกับ Windows, Office, และ Exchange ไว้ให้มั่น ไม่อาจแกว่งเท้าไปทำอย่างอื่นได้ โครงการ Courier เป็นอันต้องล่มไปตามระเบียบ

ผลที่ตามมาคือ Allard กับ Bach ตบเท้าลาออกจากไมโครซอฟต์ในเดือนถัดมา

ตอนที่ Allard ลาออก บรรยากาศไม่ดีนัก Ballmer โมโหมาก บอกว่า "แม่ม..มึงเถียงแพ้แล้วล้มโต๊ะนี่หว่า..." (ฝรั่งใช้คำว่า โยนเก้าอี้ - Throw the chair)

อีตา Allard ก็่สวนว่า "ไม่มีโต๊ะให้ล้มเว้ย..." (No chairs were thrown) แปลว่า "ที่นี่ไม่มีค่าอะไรให้กรูล้มเว้ย..."

และอีกสองปีต่อมา ไมโครซอฟต์ก็ได้ผลิตภัณฑ์ครึ่งๆกลางๆที่ชื่อว่า Windows 8 ออกมาสู้กับคู่แข่งอื่นๆ ในยุค "Post-PC Era"

ดูจากความเป็นมาและปรัชญาการออกแบบแล้ว คงเห็นได้ว่า หนทางใน Post-PC era ของไมโครซอฟต์นั้น ยากลำบากทีเดียว....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น